ทำไมต้องทำบุญวันเกิด? ทำบุญวันเกิดไปแล้วได้อะไร? แล้ววิธีทำบุญวันเกิดมีอะไรบ้าง?
เริ่มบทความมา ก็ตั้งคำถาม ถามตัวเองมาซะหลายข้อเลย แต่ก่อนที่เราจะไปทำบุญวันเกิด และดูคำเฉลยของคำถามข้างต้น เรามาดูความหมายและความสำคัญของคำว่า บุญ และ ทำบุญ กันก่อนดีกว่านะครับ
อันคำว่า บุญ นั้น เป็นนามธรรม หมายถึง การชำระหรือเครื่องชำระ ชำระจิตชำระใจให้สะอาด แล้วผลที่ได้คือ ความสุข ส่วนคำว่าการทำบุญ นั้นแปลว่า การกระทำหรือปฏิบัติซึ่งสามารถให้ผลบุญแก่ผู้กระทำ ในทางพระพุทธศาสนาเรียกเป็นศัพท์เฉพาะว่า บุญกิริยาวัตถุ 10 ซึ่งมีด้วยกัน ๑๐ วิธีคือ
๑. ทานมัย หมายถึง การทำทานทำให้ได้บุญ ทาน คือ การให้ การสละทรัพย์สินเงินทอง ความรู้ ความช่วยเหลือ ฯลฯ ให้แก่ผู้อื่นย่อมทำให้ได้ผลตามที่ได้ให้นั้น ให้ทานอย่างไรย่อมได้ผลทานอย่างนั้น เราจึงควรตั้งใจให้สิ่งที่มีคุณ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ
๒. ศีลมัย หมายถึง การรักษาศีลทำให้ได้บุญ การรักษาศีล หมายถึง การควบคุมความประพฤติทางกาย วาจา ให้เป็นปกติ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ประพฤติร้ายต่อผู้อื่น ย่อมจัดว่าเป็นการกระทำที่ดี เป็นกุศลกรรมจึงทำให้ได้รับผลดี
๓. ภาวนามัย หมายถึง การเจริญภาวนาย่อมทำให้ได้บุญ ภาวนา คือ การลงมือปฏิบัติ เพื่อการขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไป การบำเพ็ญภาวนาเป็นทางที่ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้จริง จึงจัดเป็นบุญขั้นสูงสุด
๔. อปจายนมัย (อ่านว่า อะปะจายะนะมัย) หมายถึง บุญที่เกิดจากการประพฤติตนเป็นคนอ่อนน้อม ไม่กระด้าง ไม่ถือดี คนที่เป็นคนอ่อนน้อมย่อมเป็นที่เมตตาของผู้ที่รู้จักและได้พบเห็น ความเมตตานั้นย่อมส่งผลให้ได้รับแต่สิ่งที่ดีงาม จึงจัดเป็นบุญอย่างหนึ่ง
๕. เวยยาวัจจมัย หมายถึง บุญซึ่งได้จากการขวนขวายช่วยกิจการงานของผู้อื่น ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านใกล้เคียงมีกิจการงานอะไรที่พอช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานศพ หรืองานอื่นๆ ถ้าเราช่วยด้วยความเต็มใจ ก็จะทำให้เกิดความรักใคร่ สามัคคีกัน เกิดความเป็นมิตรต่อกัน เมื่อเรามีความเดือดร้อน มิตรก็จะช่วยเหลือเรา นับเป็นบุญอย่างหนึ่ง
๖. ปัตติทานมัย หมายถึง บุญที่สร้างด้วยการให้ส่วนบุญของตนแก่ผู้อื่น เช่น เวลาที่เราถวายทานแด่พระสงฆ์ เราจะอุทิศส่วนบุญที่เราทำนั้นให้แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ให้แก่เจ้ากรรมนายเวร ให้แก่เทวดาและสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น การแผ่ส่วนกุศลของตนให้แก่ผู้อื่นดังนี้นับเป็นบุญอย่างหนึ่ง
๗. ปัตตานุโมทนามัย หมายถึง บุญเกิดได้ด้วยการอนุโมทนา คือ การยินดีในบุญที่ผู้อื่น เผื่อแผ่มาให้เรา เป็นการยอมรับในการทำดีของผู้อื่น ยอมรับน้ำใจที่ผู้อื่นเผื่อแผ่มาให้เรา การอนุโมทนาเมื่อมีผู้ตั้งใจแบ่งส่วนบุญให้เรา จึงจัดว่าเป็นบุญด้วย
๘. ธัมมัสสวนมัย (อ่านว่า ธัม-มัต-สะวะนะมัย) หมายถึง บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม ด้วยการหมั่นศึกษาหาความรู้ในทางธรรมะของพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตนตามพระธรรม คำสั่งสอนนั้น การฟังธรรมทำให้ได้บุญอย่างหนึ่ง
๙. ธัมมเทสนามัย หมายถึง บุญที่ได้ด้วยการสั่งสอนธรรมะ สอนความรู้ที่มีอยู่ให้ผู้อื่นได้รู้ด้วย ยิ่งมีผู้รู้ธรรมะปฏิบัติธรรมะมากขึ้นเท่าไร โลกก็จะมีแต่คนดี มีแต่คนที่ไม่เบียดเบียนกัน ดังนั้น โลกก็จะเป็นโลกที่สงบสุขยิ่ง การสั่งสอนธรรมะให้ผู้อื่นจึงจัดว่าเป็นบุญอย่างหนึ่ง
๑๐. ทิฏฐุชุกรรม หมายถึง บุญที่เกิดจากการที่คิดให้ถูกให้ตรงตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา การที่ไม่ทำนอกรีตนอกรอย นอกแบบพระพุทธศาสนาย่อมได้บุญ แม้คนที่นับถือศาสนาอื่น ถ้าเราช่วยเหลือ ไม่เบียดเบียนทำร้ายเขาก็ถือว่า เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดบุญได้เช่นเดียวกัน
จากข้างต้น สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า วิธีการทำบุญ ซึ่งสามารถนำไปใช้ นำไปปฏิบัติในการทำบุญวันเกิด หรือทำบญเนื่องในวันและโอกาสต่างๆ อย่างคร่าวๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้น จาก 10 วิธี เป็น 4 วิธี ดังนี้
๑. การสละทรัพย์อย่างฉลาด เช่น การถวายสังฆทานก็เป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย หรือการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้า หรือช่วยเหลือสงเคราะห์สัตว์พิการ เป็นต้น
๒. การทำชีวิตให้โปร่งเบา คือเรื่องเกี่ยวกับการบริโภคโดยตรง เพราะสมัยนี้เป็นยุคบริโภคนิยมบางครั้ง ก็ไปคิดว่าการบริโภคมากเท่าไหร่ยิ่งมีความสุข แต่ที่จริงตามหลักพระพุทธศาสนา ถ้าเราบริโภคน้อยชีวิตเราก็จะเบาและเย็น เย็นแล้วก็มีความสุข เช่นการ
ลดละอบายมุขห่างไกลจากอบายมุขหรือการรักษาศีลไม่ไปเบียดเบียนใคร ชีวิตเราก็จะโปร่งเบา
๓. การเกื้อกูลด้วยแรงกาย หมายความว่าช่วยเหลือเอื้อเฟื้อผู้อื่นเช่นไปเป็นครู เป็นอาสาสมัครสอนเด็ก หรือไปอุ้มเด็กที่ป่วยในโรงพยาบาล หรือเป็นอาสาสมัครบ้านพักคนชรา หรือช่วยเหลือชุมชนเช่นการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านของเรา เกื้อกูลด้วย
แรงกาย
๔. การฝึกจิตชำระใจ เช่นการทำสมาธิ การแผ่เมตตา การฟังธรรม การสนทนาธรรม ทั้งหมดนี้ถือเป็นการทำบุญทั้งนั้น คนไทยเราควรจะทำความเข้าใจและถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นคำว่าการทำบุญวันเกิด ก็คือ การกระทำหรือปฏิบัติเพื่อให้เกิดการชำระจิตใจให้สะอาด เนื่องในวันคล้ายวันเกิด หรือวันครบรอบวันเกิด โดยยังผลให้เกิดความสุขแก่ผู้กระทำ นั่นเอง
ทั้งนี้การ ทำบุญ นั้น คนไทยเรานิยมกระทำกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่พิธีการทำบุญคล้ายวันเกิด หรือการทำบุญครบรอบวันเกิดนั้น เริ่มมีปรากฏมาตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ โดยเรียกการทำบุญวันเกิดในครั้งนั้นว่า เฉลิมพระชนมพรรษา และได้มีการยึดถือปฏิบัติมาจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน
ข้อคิดจากการทำบุญวันเกิด หรือทำบุญในวันครบรอบวันเกิด?
จริงๆแล้ว เราทุกคนมีวันเกิดเพียงวันเดียวเท่านั้น และวันนั้นก็คือวันที่เราคลอดออกมาจากครรภ์มารดา ไม่มีวันอื่นอีกแล้ว ฉะนั้นไม่ว่าที่ไหน เมื่อไหร่ ปีไหน เดือนอะไร จะวันนี้หรือวันไหน จะเวลานี้หรือเวลาใด เราทุกคนก็สามารถทำบุญได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอเพื่อทำบุญในวันคล้ายวันเกิด หรือทำบุญในวันครบรอบวันเกิด
วิธีกระทำหรือประพฤติปฏิบัติในการทำบุญวันเกิด หรือทำบุญในวันครบรอบวันเกิด?
เมื่อถึงวันครบรอบวันคล้ายวันเกิด ก็
- อย่าดื่มเหล้าในวันคล้ายวันเกิด
- อย่าเที่ยวในวันคล้ายวันเกิด
- อย่าเลี้ยงเหล้าเมาสุรากันในวันคล้ายวันเกิด
เดี๋ยวบุญจะกลายเป็นบาป แต่ควรที่จะต้อง
- เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ให้อิ่ม
- แล้วก็บำเพ็ญกุศล
- ทำบุญตักบาตร
- ฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
- ฟังเทศน์ ฟังธรรม
- แล้วก็แผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวร
- ขออโหสิกรรมแก่เจ้ากรรมนายเวร
ซึ่งสามารถเลือกกระทำหรือประพฤติปฏิบัติได้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ดังข้างต้น
เพียงเท่านี้ การทำบุญวันเกิดหรือทำบุญในวันคล้ายวันเกิดในวันนั้นของเรา ก็จะประเสริฐที่สุด แล้วเราก็จะเจริญรุ่งเรือง วัฒนาสถาพรแน่นอนที่สุดไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้วครับ สาธุ...
แล้วสถานที่หรือมูลนิธิสำหรับการบริจาคหรือทำบุญวันเกิดหล่ะ มีที่ไหนบ้าง?
อย่างที่กล่าวไปแล้ว เราสามารถที่จะทำบุญได้ทุกวัน ทุกที่ ทุกเวลา ตามโอกาสและสถานที่จะเอื้ออำนวย ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอารามต่างๆ สถานสงเคราะห์ สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานรับเลี้ยงสัตว์ มูลนิธิ แหล่งทำบุญ ต่างๆ ซึ่งต่อไปนี้เป็นเพียงแหล่งหรือสถานที่ มูลนิธิ สำหรับบริจาค ทำบุญ บางส่วนเท่านั้น ได้แก่
- แหล่ง สถานที่ มูลนิธิ สำหรับทำบุญวันเกิดจากกระปุกสุขใจ
- แหล่ง สถานที่ มูลนิธิ สำหรับทำบุญวันเกิดจากรวมแหล่งทำบุญ - มูลนิธิ - บริจาค ฟังธรรมดอทคอม
เป็นต้น
และสุดท้ายนี้ขอฝากธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ ที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๒๑ โดยท่านพุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม ในเรื่อง การทำบุญสุนทรทาน คืออะไร
เพื่อเป็นหลักธรรมในการทำบุญวันเกิดไว้ ณ ที่นี้ด้วย
และท้ายที่สุด ที่จะลืมไม่ได้ ต้องขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูลบางส่วนต่อไปนี้
- http://praloma.multiply.com/journal/item/32
- http://www.stou.ac.th/study/sumrit/9-51/page4-9-51.html
- http://76.nationchannel.com/playvideo.php?id=43323